วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2552

ขี่ชอปเปอร์จากเชียงใหม่ ไปงานผีตาโขน จ.เลย

คราวนี้เป็นการนัดหมายล่วงหน้ายาวนาน จากเสียงตามสายชวนของเพื่อนสาวสุดที่รักคนเดิม "ไปงานผีตาโขนที่จังหวัดเลยกันนะ ปลายเดือนนี้ (มิย.) อย่าลืมซะละ" สองจิตสองใจ เพราะเกรงใจเพื่อน เนื่องยังไม่มีรถของตัวเองช่วงนี้ แต่ด้วยความอยาก ไม่ได้ขี่มาหลายเดือน ทำให้ปฏิเสธไม่ลง ทริปนี้เรียกว่าครบรสชาติ สองวันกว่าพันโล ด้วยสภาพอากาสทุกรูปแบบ เย็น ร้อน ฝนตก, เปียกแล้วแห้ง แห้งแล้วเปียกวันละหลายๆ รอบ จบทริปด้วยความม่วนหลายและก็ไม่ป่วยไข้แต่ประการใด

ออกเดินทางจากกรุงเทพไปขึ้นเครื่องการบินไทยตั้งแต่ไก่โห่ ไฟลท์บ่ายสามโมง ไปมันตั้งแต่บ่ายโมงครึ่ง กลัวตกเครื่องเหมือนคราวที่แล้ว ถึงเชียงใหม่สี่โมงกว่า แม้ว่าจะนั่งการบินไทยก็ยังมีดีเลย์นิดหน่อย ที่รีบไปเพราะว่าจะไปแวะโชว์รูม BMW เชียงใหม่ กะว่าจะไปลอง F800 ซะหน่อย แต่ก็ไม่ทันอยู่ดี เป็นอันว่าชวดไป

เริ่มต้นการเดินทาง ก้าวเท้าออกจากบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ คราวนี้ได้พาหนะคู่ใจเป็น Honda Shadow 400 cc. ใจจริงก็ยังไม่ค่อยชอบรถแนวนี้เท่าไหร่ แต่ใจมันอยากขี่ อะไรก็เอาละวินาทีนี้ อย่างไรก็ต้องขอขอบคุณสปอนเซอร์สาว คุณเอ้ ณ เชียงใหม่ไว้นะที่นี่



นัดรวมพลกันที่ปั๊ม ปตท. 6 โมงเช้า รวมสมาชิกทั้งหมด 8 คัน ได้แก่ HD Electra Glide, HD DynaLowRider (ถ้าชื่อรุ่นผิดต้องขออภัยไว้นะที่นี้นะคะ หาใช่เซียน HD เด๋วจะโดนเคือง, Yamaha FJR1300, BMW R1100, BMW R1200GS, Handa ไม่ทราบรุ่นอีก 2 รวมตัวครบล้อหมุน 6 โมงครึ่งพอดิบพอดี

วิ่งออกจากเชียงใหม่ ไปตามถนนสาย 11 มุ่งหน้าสู่ลำพูน วิ่งเข้าลำปาง ทางดีและสวย มากี่ทีก็ไม่เบื่อ อยากย้ายบ้านมาอยู่ภาคเหนือซะจริงๆ จะได้ขี่เล่นบ่อยๆ ระหว่างทางก็เริ่มมีฝนปรอยๆ แต่ด้วยความที่ดูฟ้าใสๆ ก็เลยไม่คิดกันว่าจะตกหนักนัก



พี่คันข้างหลัง (เสื้อกันฝนสีเขียว) ไม่น่าเชื่อว่าจะอายุเกือบ 60 แล้ว ทริปนี้เป็นทริปแรก จึงมีข้าวของมากหน่อย
แต่สุดท้ายพี่เขาก็ขอถอนตัวกลางทาง เพราะช่วงฝนตกรถแกลื่นล้มไปสองรอบ น้ำมันหมดอีกหนึ่งรอบ



เข้าถนนช่วงเด่นชัยจากฝนปรอยๆ กลายเป็นตกหนักขึ้นเรื่อยแบบไม่ลืมหูลืมตา มีบางส่วนไม่กลัวฝนกับถนนลื่นๆ ก็มุ่งหน้าไปก่อน ส่วนข้าพเจ้ากับอีกสามคันจอดหลบได้เพิงจาก แต่ซักพักฝนที่ตกหนักไม่หยุด ทำให้จากเริ่มรั่ว ยืนตรงไหนก็แหมะๆ ใส่หัวอยู่ดี แถมฟ้าเขียวสม่ำเสมอดูทีท่าแล้วไม่น่าจะหยุดง่ายๆ จึงตัดสินใจขี่ฝ่าฝนไปยังปั๊มนัดหมายถัดไป



จนถึงปั๊ม(แยกเข้าอุตรดิตถ์)ฝนก็ยังไม่หยุด แต่ก็ถือว่าซาลงไปมาก เลยถือโอกาสกินข้าวเช้ามันซะที่นี่เลย
กว่า 9 โมงเพิ่งจะมาได้แค่นี้เอง แล้วจะถึงกี่โมงกันละเนี่ย -_-



ถามว่าขี่รถตากฝนน่ะกลัวไหม คำตอบคือไม่ แต่ที่กลัวน่ะคือกลัวหนาว ว่าแล้วเราก็เลยต้องหาทางเพิ่มความอบอุ่นด้วยเสื้อกันฝนรุ่นพิเศษ สังเกตนางแบบของเรานะคะ ...ถุงดำนั่นเอง สารพัดประโยชน์จริงๆ (เคยใช้ตอนดำน้ำค่ะ เลยลองเอามาใช้กับการขี่รถดู ก็พอกล้อมแกล้มไปได้)



รูปทางสวยๆ ก่อนเข้าสู่ช่วงฝนตก



รูปมอเตอร์ไซด์คู่กายของสาวเอ้ ตัวนิดเดียว ขี่ซ้าาา เครื่อง 1450 cc ครับท่าน



ออกจากปั๊มผ่านช่วงอำเภอทองแสนขัน (1214) ถนนบางช่วงทำอยู่ การที่ฝนตกจึงทำให้พื้นกลายเป็นโคลน ก็เลยได้มีลงไปวัดพื้นกันบ้าง เพราะล้อติดหล่ม



ลื่นล้มกันไปสองคัน แต่ก็แบบล้มแปะ ไม่มีใครเป็นอะไร ซึ่งตรงช่วงนี้ก็มีรถสิบล้อมาติดหล่มเช่นกัน



แรกๆ ก็เซ็งๆ ที่ฝนตก แต่ไปๆ มาก็ชักคิดว่าสนุกดี เป็นอีกอรรถรส โหด มันส์ ฮา และหนาวววว พี่ใหญ่คันนี้ก็ได้ลงไปคลุกขี้โคลนกะเค้าเหมือนกัน อิอิ การขี่มุ่งหน้าผ่านพิษณุโลก (1114) มาทางชาติตระการ ท่าสะแก เข้าแยกนายัง (1248) ผ่านบ่อโพธิ์ (2013) จนเข้าสู่ด่านซ้าย จ.เลยในที่สุด



สุดท้ายกว่าจะมาถึงเด่นชัย จ.เลยได้ ก็ปาเข้าไปเกือบบ่ายสอง ทำให้ชวดพบเพื่อนๆ หลายกลุ่มที่มาจากกรุงเทพที่รอไม่ไหว กลับกันไปแล้ว แวะถ่ายรูปที่พระธาตุศรีสองรัก (ถ่ายแต่ข้างหน้า ไม่ได้ขึ้นไปค่ะ มันร้อน...อากาศนะ)



จากนั้นก็แวะหาข้าวกลางวันกินกัน เติมพลังให้ท้องอิ่ม ก่อนเดินเที่ยวงานผีตาโขน ความจริงขบวนแห่หมดไปแล้วตั้งแต่ช่วงสาย แต่ถนนหน้าอำเภอตอนนี้ก็ยังปิดอยู่และยังมีบรรดาผีตาโขนกระจัดกระจายอยู่แถวๆ นั้นให้ถ่ายรูปได้ รถติดมากๆ จนต้องจอดรถไว้แล้วเดินเข้าไปกว่ากิโล เมื่อกี้ผ่านช่วงฝนตก แต่ตอนนี้แดดเปรี้ยงสุดๆ

ทุก ๆ เดือนมิถุนายนของทุกปี ที่อำเภอด่านซ้ายจะมีประเพณีชื่อแปลก คือ ประเพณีแห่ผีตาโขน เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุเจดีย์สองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย ถือเป็นงาน "บุญหลวง" โดยรวมเอางาน"บุญพระเวส" หรือ "ฮีตเดือนสี่" และงาน"บุญบั้งไฟ"หรือ"ฮีตเดือนหก" รวมเข้าไว้ด้วยกัน

บ้างก็ว่าชื่อนี้ได้มาครั้งเมื่อพระเวสสันดร เสด็จจากป่ากลับสู่เมือง บรรดาคนป่าที่ชื่นชมในพระบารมี ต่างแฝงตัวเข้ามาในขบวนแห่พระเวสสันดร เพื่อส่งเสด็จกลับด้วยความอาลัยรัก และนี่เองจึงทำให้เกิดชื่อ "ผีตามคน" และเพี้ยนมาเป็น "ผีตาขน" และ "ผีตาโขน" ในปัจจุบัน

เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวม ๆ กัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน

วันแรก เรียกว่า "วันโฮม" หรือ "วันรวม" เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. เป็นวันประกอบพิธีกรรมเบิกพระอุปคุตจากลำน้ำหมัน

ถึงตอนสายขบวนแห่จะเคลื่อนไปบ้านเจ้าพ่อกวนเพื่อประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียม (ผู้ประกอบพิธีเลี้ยงผีหอหลวง) ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรืออยู่ตามที่ต่างๆก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดังเสียงดัง

ผีตาโขนจะออกมาร่วมขบวนและเพ่นพ่านมากขึ้น เมื่อพิธีสู่ขวัญเสร็จ คนทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยเจ้ากวนนางเทียมคณะแสนนางแต่ง(ผู้ช่วยเจ้ากวนและนางเทียม) บรรดาผีตาโขน ขบวนเซิ้งและการละเล่นต่างๆเช่น ทั่งบั้ง(คนป่ากระทุ้งพลอง) ควายตู้(ไถนา) คนทอดแห จะเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณวัดโพนชัยเพื่อแห่รอบอุโบสถ ในช่วงนี้ผีตาโขนจะออกมาร่วมชุมนุมมากมาย หลังจากนั้นผีตาโขนจะเที่ยวออกอาละวาดไปตามระแวกบ้าน

วันที่สอง ขบวนแห่พระเวสสันดรและนางมัทรี เข้าเมือง และขบวนแห่บั้งไฟเจ้ากวน ขบวนบั้งไฟนี้เมื่อแห่ถึงวัดโพนชัยแล้วจะนำไปจุดเพื่อขอฝนจากพญาแถนขอให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ระหว่างแห่บั้งไฟเจ้ากวนจะโปรยทานไปด้วย วันนี้แหละเป็นวันที่ผีตาโขนคึกคักคึกครื้นเป็นที่สุด

ส่วนวันที่สาม เป็นวันทำบุญฟังเทศน์ จากนั้นก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

งานบุญหลวงประเพณีผีตาโขนของอำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย เป็นประเพณีสำคัญ เพราะอยู่ในฮิดสิบสองเดือนสี่งานบุญผะเหวด (พระเวส) แห่ผีตาโขนแม้จะมีเล่นในอีสานถิ่นอื่นบ้าง แต่ที่วัดโพนชัย อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลยเป็นที่รู้จักและจะยังคงอยู่คู่กับ "พระธาตุศรีสองรัก" ตลอดไป












ภาพขบวนแห่...



ผีตาโขนที่จะเข้าขบวนแห่นั้น แบ่งออกได้เป็น 2 ขนาด คือ ผีตาโขนใหญ่ และ ผีตาโขนเล็ก





ภาพผีตาโขนใหญ่



สำหรับผีตาโขนใหญ่นั้นจะจัดทำขึ้นเพียง 2 ตัว คือ หญิง 1 ชาย 1 เท่านั้น โดยจะทำขึ้นจากโครงไม้ไผ่คล้ายกับสุ่มไก่ขนาดใหญ่ จากนั้นก็ตกแต่งด้วยผ้าจนมองไม่เห็นโครงไม้ไผ่ เมื่อเข้าขบวนแห่ก็จะมีคนเข้าไปอยู่ภายในเพื่อยกโครงไม้ไผ่เคลื่อนไปตามขบวน

ลักษณะพิเศษของผีตาโขนใหญ่อีกอย่างหนึ่ง คือ จะทำเครื่องเพศหญิง ชายไว้อย่างชัดเจน ผีตาโขนใหญ่นี้บุคคลทั่วไปไม่ได้รับอนุญาตจัดทำขึ้น มีเพียงกลุ่มคนที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำมาหลายชั่วอายุคนเท่านั้น และก่อนทำก็จะต้องมีการขอขมาสิ่งศักดิ์ก่อน จึงจะสามารถขึ้นโครงร่างได้ ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี

สำหรับผีตาโขนเล็ก หรือ ผีตาโขน ที่เราจะพบเห็นในขบวนแห่ทั่วไปนั้น ชาวบ้านในละแวกบ้านใกล้เคียงจะจัดทำขึ้นเพื่อเข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน สมัยก่อนผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน จึงมีเฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่ร่วมขบวนแห่ แต่ปัจจุบันมีการจัดขบวนของทางโรงเรียนหรือตำบลย่อยๆ ซึ่งมีนักเรียนหญิงแต่งกายเป็นผีตาโขนเข้าร่วมด้วย จึงมีการคิดตกแต่งหน้ากากและเสื้อผ้าให้เป็นทีมและสีสรรต่างๆ กันไปมากมายหลายหลาก



เหล่าบรรดาผีตาโขน ไม่อายกล้อง ที่เห็นเมื่อไหร่เป็นพร้อมเก๊กท่าให้เสมอ



กลุ่มนี้เอาหน้ากากมาจัดวางรวมกันไว้ เดินผ่านคิดจะถ่ายรูป แต่ทันใดนั้นก็มีเสียงตะโกนมาว่า "พี่ครับ พี่ๆๆ พี่ที่ใส่กางเกง yellow corn น่ะ เข้าไปตรงกลางเลย ผมให้เข้า ผมชอบกางเกงพี่" เป็นงง แต่ก็ดี...ว่าแล้วก็วิ่งจู้ดเข้าไปทันที

การแต่งกายของผีตาโขนเล็กนั้น จะนำเศษผ้ามาเย็บเป็นชุดเพื่อปิดบังร่างกาย และสวมหน้ากากที่ทำขึ้นจากโคนของทางมะพร้าว นำมาตัดแต่งให้เป็นรูปหน้าหน้าผี เติมจมูกยาว ๆ คล้ายกับงวงช้าง ทำการวาดลวดลายเติมสีสันอย่างสวยงาม แล้วแต่ละบุคคลจะจินตนาการต่างๆ กันออกไป ส่วนหัวที่ทำคล้ายเขาของผีตาโขนนั้น จะนำเอา"หวด" นึ่งข้าวที่ทำด้วยไม้ไผ่มาเย็บต่อจากกาบมะพร้าวนั่นเอง





ขาดไม่ได้อีกอย่างคือ "หมากกะแหล่ง" หรือ กระดึงสำหรับผูกคอวัว นำมาห้วยเป็นพวกไว้ที่เอว เพื่อเวลาเดินจะเกิดเสียงดังตลอดเวลา ปัจจุบันมีการนำกระป๋องมาบรรจุลูกหินเผื่อใช้แทนหมากกะแหล่ง



อาวุธประจำกายของผีตาโขนเป็นดาบไม้ แต่มีไม่น้อยที่นิยมถือปลัดขิกขนาดใหญ่ เพื่อใช้เย้าแหย่สาว ๆ ที่มาชมขบวนแห่เป็นที่สนุกสนานโดยไม่มีการถือโกรธกันแต่อย่างใด ไม่ถือเป็นเรื่องหยาบ หรือลามกเพราะมีความเชื่อกันว่าหากเล่นตลกและนำอวัยวะเพศชายหญิงมาเล่นมาโชว์ในพิธีแห่และงานบุญบั้งไฟจะทำให้พญาแถนพอใจ ฝนจะตกต้องตามฤดูกาล พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์





บรรดาผีๆ เล่นกับนักท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน



หลากหลาย...โดยเฉพาะผีตาโขนตัวน้อย น่ารัก



แม้จะบ่าย แต่ผู้คนก็ยังคึกคัก ส่วนบรรดาผีตาโขนเองก็มันส์ไม่น้อย
เต้นกันอย่างสนุกสนาน บางตนก็ร่ำสุราจนกรึ่มได้ที่ทีเดียว



หุ่นผีตาโขนขนาดใหญ่ ที่มีมือดีอุตริเอามาใส่เดินเล่น
เดินไปๆมาๆซักพักหัวไปติดต้นไม้ หงายหลังโครมซะงั้น ^_^



ตุ๊กตาผีตาโขนขนาดจิ๋ว เอาหุ่นยนต์เต้นได้มาทำ น่ารักสุดๆ



บริเวณวัดที่มีการประกอบพิธีทางด้านหลัง



ขณะที่ด้านหน้า เด็กๆ สนุกสนาน ด้านหลังวัด บรรดาพ่อแก่แม่เฒ่าก็ทำพิธีตามธรรมเนียมโบราณ และมีการจุดบั้งไฟเป็นระยะๆ

งานนี้มีเหล่าสิงห์มอเตอร์ไซด์มากันมากมาย แต่ที่ได้ใจคือบรรดาเหล่าเด็กวัยรุ่นที่ขี่รถเล็กๆ เช่น อีแก่ ชาลี เวสป้า ขอปรบมือให้เสียงดังๆ เลยค่ะ ด้วยบางกลุ่มมาจากระยะทางที่ไกลมาก แต่ก็สามารถขี่รถที่ไม่สามารถใช้ความเร็วสูงกันมา เห็นมีช่วยกันซ่อมบ้างเป็นระยะๆ แต่ก็ยังมาจนถึง



คันนี้...ไอเดียเริ่ด กลัวหมวกหายก็ล่ามไว้ซะเลย คิคิ





วิวยามเย็นข้างทาง เทือกเขาสลับซับซ้อนที่ยังคงความเขียวขจี สบายตาเป็นอย่างยิ่ง ตอนแรกได้ข่าวว่ามีงานมอเตอร์ไซด์ในจังหวัดเลย แต่ไม่มีใครรู้ว่ามีจริงๆ หรือไม่ซักคน ก็เลยตัดสินใจตีเข้าไปนอนพิษณุโลกแทน สุดท้ายก็เช็คจนรู้ว่ามีงานจริงๆ อดเลย



จอดรถแล้วเดินลงไปถ่ายรูปนะคะ ^o^



สองหนุ่มพี่-น้องจากลำปาง กับหนึ่ง BMW R1100 สีเขียวมะนาว



เจ้า Shadow พาหนะคู่ใจในทริปนี้ กับทางสวยๆ ช่วงที่เริ่มเข้าสู่พิษณุโลก



เมื่อคืนเรานอนกันที่ตัวเมืองพิษณุโลก และก็ได้ไปเดินไนท์บาร์ซาด้วยละ
เตรียมตัวออกเดินทางในเช้ารุ่นขึ้นเวลา 8.30 ตกลงว่าจะไปเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยกัน นับได้ว่ามาเยือนเป็นครั้งที่สองในรอบปี



คราวนี้เลยขอแยกตัวออกไปถ่ายภาพโบราณสถานย่อยๆอื่นๆ ในเขตอุทยาน



พระพุทธรูปในสุโขทัยนั้นอ่อนช้อย งดงามยิ่งนัก



บึงกลางอุทยาน..กับชอปเปอร์ เข้ากันได้อย่างน่าประหลาดใจ



จากสุโขทัยมุ่งหน้าเข้าจังหวัดตาก ไปกินสเต็ก และก็เพื่อจะหนีฝน แต่สุดท้ายก็โดนอยู่ดี
แถมขากลับนี่เปียกแล้วแห้ง แห้งแล้วเปียก อยู่สามรอบได้



ขณะที่กำลังเดินทางเข้าสู่จังหวัดตาก รถคันที่เบิ้มที่สุดเกิดยางล่อน ตอนแรกเจ้าของรถกะจะฝากรถไว้ที่บ้านเพื่อนที่ตาก
แต่ไม่อยู่ ก็เลยตัดสินใจบดกลับเชียงใหม่ แต่ก็ต้องลดความเร็วลงเหลือ 80km/hr



ขี่เรียงแถวกันอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สวยงาม



ขี่เที่ยวไปเรื่อย ผ่านอะไรที่น่าแวะ อยากแวะก็แวะ...ที่วัดถ้ำน้ำผ่าผางาม



มีถ้ำให้เดินเที่ยว ปากถ้ำต้องเดินขึ้นไป ก่อนเดินขึ้นไปไม่ได้ไปบอกเจ้าหน้าที่ ทำให้ไม่สามารถเปิดไฟให้ถ้ำได้ พอดีมีไฟฉายแค่อันเดียว และช่วงนี้ฝนตกชุก ทำให้พื้นแฉะแล้วก็เป็นโคลนหน่อยๆ เดินแล้วติดหนุบหนับ เลยถอดใจ เดินเข้าไปได้ไม่ลึกเท่าไหร่ จริงๆแล้วทางเข้าถ้ำกับทางออกเป็นคนละทาง ประมาณว่าเดินเข้าไปเรื่อยๆ ไปออกอีกทางค่ะ แต่ต้องมีคนนำเพราะทางออกเป็นป่า ถ้าไม่รู้ทางอาจหลงได้



ไม้กลายเป็นหิน เห็นพี่ที่ไปด้วยบอกว่ายกมาจากที่ไหนซักแห่ง ไม่ได้เกิดที่บริเวณวัดนี่



จุดสุดท้ายที่แวะก่อนถึงเชียงใหม่คือ พระธาตุลำปางหลวง



วิจิตรงดงามมากๆ



มาลำปางทั้งที ก็ต้องมีสัญลักษณ์ของที่นี่ ...รถม้า



โบสถ์แบบล้านนา



ช่วงนี้บริเวณเจดีย์มีการบูรณะอยู่ ภาพจึงไม่สวยสมใจ



ออกจากลำปาง มุ่งหน้าสู่พะเยา เข้าเชียงใหม่ ผ่านช่วงขุนตาน ถนนกว้าง เรียบ โค้งยาว ใส่ได้เต็มๆ



งงล่ะซิ เพราะบอกว่าต้องขี่ช้า เนื่องจากมีรถในขบวนยางร่อน เพราะเหตุนี้จึงมีการแวะพักรายทางบ่อย พี่คนที่ขี่เจ้าคันนี้ก็จะเป็นคนแรกที่ออกไปก่อนเสมอ เราก็จะรอซัก 15 นาทีแล้วค่อยขี่ตามค่ะ ^_^ กว่าจะไล่ทันก็สนุกล่ะค่ะ พี่คนนี้เรียกว่าสุดยอด จะตรงจะโค้งถ้าบอกว่า 120 km/hr แก็จะขี่เท่านี้ ดังนั้นการขี่ 120 สำหรับกลุ่มนี้นี่ไม่ได้ช้าเลย



แม้ฟ้าจะครึ้ม ก็ไม่หวั่น ทริปนี้ม่วนหลายๆ พันกว่าโล แต่คุ้มค่าจริงๆ ค่ะ แต่ก็พูดจริงๆ นะ ถ้าต้องขี่มาจากกรุงเทพก็อาจจะไม่สนุกเท่านี้ก็ได้ ก็ภาคกลางมีแต่ทางตรงนี่นา แต่เริ่มจากเชียงใหม่นี่โค้งเยอะดี

ขอบคุณที่ติดตามชมเรื่องราวค่ะ

เจอกันใหม่ทริปหน้านะคะ ^_^

ปล. เรื่องราวเดียวกันจากคุณเอ้ ที่ www.pantip.com ค่ะ



Credit เรื่องราวประเพณีการแห่ผีตาโขน: TripAndTrack, คลังปัญญาไทย
Credit รูปบางส่วน: คุณเอ้ (Koonae), คุณหมู พิษณุโลก

ปล.ลืมเล่า ขอเล่าความน่าเกลียดของคนหน่อยนะคะ เที่ยวบินกลับนี่เจอแต่เรื่องเซ็งๆ
เรื่องแรก ขึ้นเครื่องปุ๊บ เราก็เดินหาที่นั่งของเรา ได้ A หมายความว่าติดหน้าต่าง พอเจอที่นั่ง ก็มีคุณแม่ให้ลูกตัวเองอายุราว 5 ขวบนั่งไปซะแล้ว เราก็เลยยืนมอง คุณแม่คนนี้ก็ไม่ได้สนใจ เราจึงยืนซักพัก ใจก็ไม่ได้ว่าอะไรหรอก ใครจะใจไม้ใส้ระกำกับเด็กตาดำๆ ได้ลงคง เพราะถ้าเราเป็นเด็กเราก็คงอยากนั่งริมหน้าต่าง ยืนกดดันซักพัก ยัยคุณแม่ก็หันมามองหน้า ไม่ยิ้มและก็ไม่พูด หันซ้ายหันขวา แล้วก็มองหน้าลูก จนเราเป็นฝ่ายต้องพูดว่าไม่เป็นไร ใจก็จี๊ดขึ้นมาเลย...ขอกันดีๆ ก็ให้ ทำไมไม่มีมารยาทบ้าง ไม่มีพูดขอและขอบคุณซักคำ จนเครื่องเลนดิ้งแล้วก็แยกย้ายกันไปในที่สุด อดห่วงไม่ได้ว่า ถ้าแม่เป็นอย่างนี้ แล้วลูกต่อไปจะเป็นอย่างไร เมื่อแม่ไม่รู้จักเกรงใจ และไม่รู้จักขอบคุณคนอื่น ไม่รู้ว่าจะสอนว่า...อยากได้อะไรก็ทำเลยนะลูก ของที่ไม่ใช่ของเราก็ไม่เป็นไร ฉกฉวยเอามาเป็นของตน แล้วทำหน้ามึนเข้าไว้นะลูก เดี๋ยวเขาก็ระอาใจไม่ยุ่งกับเราเอง
เรื่องที่สอง ขณะที่กำลังต่อคิวรอรับบัตรคิวแท็กซี่อยู่ดีๆ ก็มีป้าคนนึงโผเข้ามาลัดคิว เราจึงบอกเขาว่าให้ไปต่อคิว แทนที่จะละอาย กลับพูดว่า "ก็แล้วไง...อยากได้ก็เอาไปสิ เอาไปเลย" เสียงดังมาก จนเราอายแทน (ใครผิดกันแน่วะ) ป้าคนนี้ก็บ่นงึมงัมๆ (แต่เสียงดัง) ไม่หยุด จนมีเสียงเรียกจากฝรั่งคนหนึ่งให้ป้าหยุดและไปเข้าแถว แต่ก็ไม่ได้ว่ากล่าวอะไรกันมากกว่านั้น หันไปดูจึงรู้ว่าป้าคนนี้น่าจะเป็นเมียฝรั่ง แถมยังจูบปลอบใจซะอีกแน่ะ เออหนอ...อยู่กับชาวต่างชาติที่ว่าศิวิไลซ์ทางอารยธรรมและความคิดก็ไม่ได้แปลว่าจะมีการสอนหรือส่งต่อสิ่งที่ดีๆ มาให้เสมอไป หนำซ้ำฝรั่งบางคนนำเอาประเด็นเรื่องนี้มาเบี่ยงแบนเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัวในบ้านเราก็มีถมถืด ขอร้อง...อย่าเห็นว่าเพราะเป็นฝรั่ง ก็ว่าดีไปหมดเล้ยยยย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น